กัลฟ์ เดินหน้าต่อกับโครงการ “GULF Sparks Smiles มอบรอยยิ้มสดใสให้ชุมชน”
ครั้งที่ 2 สานต่อพันธกิจเพื่อสังคม จากองค์กรด้านพลังงานสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ชุมชน
ปัญหาด้านสุขภาพช่องปาก และการตรวจสุขภาพฟัน มักเป็นสิ่งที่หลายคนละเลย
จนอาจส่งผลให้เกิดเป็นปัญหาในระยะยาวได้ ยิ่งในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19
ทำให้มีผู้ที่ต้องการรับความช่วยเหลือในส่วนของการรักษาปัญหาในช่องปากมากขึ้น
เนื่องจากการทำทันตกรรมต้องหยุดชะงักไปชั่วคราวตามมาตรการที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา
2019 (ศบค.) กำหนด และเมื่อสถานการณ์ดีขึ้น จึงเป็นจุดเริ่มต้นให้เกิดโครงการออกหน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่
“GULF Sparks Smile มอบรอยยิ้มสดใสให้ชุมชน” เพื่อเป็นการรักษาผู้ป่วยในเชิงรุก
ผ่านการเข้าไปรักษาผู้ป่วยในพื้นที่ห่างไกลจากศูนย์บริการสาธารณสุข โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
ซึ่งโครงการนี้ได้จัดขึ้นครั้งแรกในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ณ ชุมชนบ้านแบนชะโด กทม.
จากการตอบรับที่ดีของชุมชน และประชาชนที่มาใช้บริการ ทางบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด
(มหาชน) หรือ กัลฟ์ และ คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จึงได้สานต่อกิจกรรมออกหน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่ “GULF Sparks Smiles มอบรอยยิ้มสดใสให้ชุมชน” ครั้งที่ 2
โดยจัดขึ้นที่ มัสยิดนูรุ้ลเอี๊ยะห์ซาน (ทับช้างบน) เขตสะพานสูง กทม. นอกจากนี้ทางทีมทันตแพทย์
จากคณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอาสาสมัครจากกัลฟ์
ได้จัดกิจกรรมให้ความรู้เรื่องทันตสุขศึกษาให้กับอาสาสมัครกรุงเทพมหานคร (อสส.) และประชาชนที่สนใจ
เพื่อที่ทีมอสส. จะได้นำองค์ความรู้ไปกระจายต่อแก่เพื่อนร่วมงานและคนในชุมชนต่อไป
นายสิตมน รัตนาวะดี ในนามตัวแทน นายสารัชถ์ รัตนาวะดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี
ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ครั้งนี้เป็นการออกหน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่เป็นครั้งที่ 2 ของโครงการ
“GULF Sparks Smiles มอบรอยยิ้มสดใสให้ชุมชน”
ซึ่งเป็นไปตามเป้าที่ตั้งไว้ว่าจะออกหน่วยเช่นนี้เดือนละหนึ่งครั้งจนถึงสิ้นปี 2563
โดยการออกหน่วยในครั้งแรกได้รับผลตอบรับค่อนข้างดีจากคนในชุมชน ครั้งนี้จึงได้มาออกหน่วยที่
มัสยิดนูรุ้ลเอี๊ยะห์ซาน เขตสะพานสูง ซึ่งเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่กัลฟ์ได้มาแจกข้าวกล่องในช่วงวิกฤติโควิด-19
จึงอยากกลับมาลงพื้นที่นี้อีกครั้ง
เพื่อให้คนในชุมชนได้รับการรักษาปัญหาสุขภาพช่องปากที่มีประสิทธิภาพโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
เพื่อเป็นการคืนประโยชน์สู่สังคมและพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับชุมชน
“โครงการออกหน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่เป็นโครงการที่ทางคณะทันตะ จุฬาฯ ดำเนินการต่อเนื่องมาเป็นเวลาหลายปี
โดยคณะฯ มุ่งหวังที่จะทำให้ผู้ที่ไม่สามารถเข้าถึงการรักษาปัญหาสุขภาพช่องปากที่มีประสิทธิภาพ
ได้รับการรักษาอย่างถูกวิธีและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19
ทำให้การออกหน่วยจะลำบากกว่าในสถานการณ์ปกติ
แต่เนื่องจากได้รับความช่วยเหลือจากกัลฟ์ทั้งในส่วนของการอำนวยความสะดวกในการออกหน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่และกัลฟ์ได้มอบเครื่อง
High Power Suction ที่ช่วยลดการฟุ้งกระจายของละอองน้ำลายได้อีกด้วย ทางคณะทันตะ จุฬาฯ
ต้องขอขอบคุณกัลฟ์ที่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยสนับสนุนความตั้งใจของคณะฯ
เพื่อสร้างสังคมที่พัฒนาอย่างยั่งยืนร่วมกัน” รศ.ร.อ.หญิง ทญ.ดร.รังสิมา สกุลณะมรรคา รองคณบดีฝ่ายวิรัชกิจ
สื่อสารองค์กร และกิจกรรมเพื่อสังคม คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวเสริม
นางสาวอรุณีย์ สิงสาหัส ตัวแทนอาสาสมัครกรุงเทพมหานคร (อสส.) ชุมชนบ้านทับช้าง กล่าวว่า
การที่กัลฟ์ร่วมมือกับทันตแพทย์ จากคณะทันตะ จุฬาฯ
จัดทำโครงการคลินิกทันตกรรมเคลื่อนที่ช่วยให้คนในชุมชนได้รับความสะดวกสบายมากขึ้น
ได้รับการรักษากับคุณหมอที่มีความเชี่ยวชาญ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย นอกจากนี้
อสส.ในชุมชนยังได้รับความรู้ด้านทันตสุขศึกษา เรียนรู้การดูแลสุขภาพช่องปาก การแปรงฟัน รักษาฟัน
และการสังเกตอาการผิดปกติของสุขภาพฟันเบื้องต้นได้ และสามารถนำไปเผยแพร่ต่อให้กับคนในชุมชนได้
ช่วยให้ทุกคนในชุมชนสามารถดูแลรักษาฟันของตัวเองได้ในระยะยาว
ในส่วนของมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 จะมีจุดคัดกรองวัดอุณหภูมิและซักประวัติ
ก่อนเข้าไปยังจุดตรวจสุขภาพฟันเบื้องต้น อีกทั้งมีการจัดที่รับบัตรคิว
การจัดที่นั่งรอหน้าห้องตรวจให้มีระยะห่างที่เหมาะสม
มีมาตรการป้องกันและควบคุมการติดเชื้อในสถานทำฟันตามมาตรฐานทันตแพทยสภา โดยทันตแพทย์และบุคลากรทางทันตกรรม
ต้องใส่อุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อ เช่น แผ่นป้องกันใบหน้า (Face Shield) แว่นป้องกัน หน้ากากอนามัย ชุด PPE
และถุงมือยาง ระหว่างปฏิบัติงาน มีฉากกั้น มีการทำความสะอาดเก้าอี้ทำฟันก่อนและหลังการรักษาทุกครั้ง
มีเครื่องดูดละอองฝอย (Extra Oral Suction) เพื่อลดการฟุ้งกระจายของละออง เนื่องจากเป็นสถานที่ปิด
จะมีการทำความสะอาดเครื่องปรับอากาศ และทำความสะอาดพื้นที่ ทั้งก่อนและหลังการออกหน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่
นอกจากนี้จะมีการควบคุมปริมาณคนที่เข้าไปรักษา โดยจะให้คนไข้หนึ่งคนอยู่ในบริเวณที่รักษาไม่เกิน 20 นาที
และจะเปิดหน้าต่างเป็นระยะ มีพัดลมขนาดใหญ่ช่วยเป่าให้เกิดการหมุนเวียนของอากาศ (Air Change)
พร้อมทั้งเครื่องพลาสมาที่ช่วยฆ่าเชื้อในอากาศและลดการแพร่กระจายของเชื้อโรคได้เป็นอย่างดี